เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)


 

  ความเป็นมาของ SDGs

          เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เริ่มดำเนินการ พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) จนถึง พ.ศ. 2579 (ค.ศ. 2030) เอกสารที่ประเทศสมาชิกให้การรับรองเรียกว่า วาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ฉะนั้นในบางโอกาส SDGs อาจถูกเรียกด้วยคำว่า Agenda 2030 หรือ Global Goals ก็ได้ นอกจากนี้ในเอกสารวิชาการและเอกสารทางการระหว่างปี 2012 – 2015 นั้นอาจเรียก SDGs ว่า Post-2015 Agenda ด้วยก็ได้

                                                 

          กระบวนการได้มาของ SDGs เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development : UNCSD) ในปีนั้นที่กรุงริโอ เดอจาไนโร ประเทศบราซิล นับเป็นการครบรอบ 20 ปีการประชุมเดียวกันนี้ในปี 1992 ที่กรุงริโอ (จึงเรียกการประชุมนี้ว่า Rio+20) ในการประชุมนี้ การประเมินผลการพัฒนาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : 2001-2015) ถูกยกขึ้นมาและพบว่าหลายเป้าหมายยังไม่บรรลุ และในขณะเดียวกันความท้าทายใหม่ๆ ของโลกก็เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากรที่นำมาซึ่งแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติและอาหาร และความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่รุนแรงขึ้นทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ​

          ที่ประชุมจึงมีการเสนอให้เริ่มกระบวนการร่างเป้าหมายการพัฒนาหลังปี 2015 (Post-2015 Agenda) และให้ในกระบวนการนี้เป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงระดับปัจเจกชนโดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง ในช่วงปี 2012 ถึง 2015 มีคนกว่า 8.5 ล้านคนมีส่วนร่วมกับกระบวนการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเทศไทย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ Social Watch เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างการมีส่วนร่วมในประเทศไทย

          เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) นั้นมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ดังนี้ (รายละเอียดคลิกที่ภาพ)

            

 

 เป้าหมาย SDGs 17 ประการ

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2573 เป้าหมายเหล่านี้คือการเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน ปกป้องโลก และทำให้ทุกคนมีความสงบสุขและความมั่งคั่ง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับทุกประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาของตนเอง เราควรจะเลือกทางเลือกที่เหมาะสมในการปรับปรุงชีวิตสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป ภายใต้แต่ละเป้าหมาย ประกอบด้วยเป้าประสงค์และตัวชี้วัดที่จะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาของแต่ละเป้าหมายได้มากขึ้น (ข้อมูลภาษาอังกฤษของ UN สามารถอ่านได้ที่ https://sustainabledevelopment.un.org/sdgs) *ภาษาไทยแปลโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือ สภาพัฒน์)* รายละเอียดแต่ละเป้าหมาย มีดังนี้

เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจน (No Poverty)
เป้าหมายที่ 2 : ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
เป้าหมายที่ 3 : มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being)
เป้าหมายที่ 4 : การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)
เป้าหมายที่ 5 : ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
เป้าหมายที่ 6 : การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation)
เป้าหมายที่ 7 : พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy)
เป้าหมายที่ 8 : การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)
เป้าหมายที่ 9 : อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)
เป้าหมายที่ 10 : ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality)
เป้าหมายที่ 11 : เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
เป้าหมายที่ 12 : แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
เป้าหมายที่ 13 : การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
เป้าหมายที่ 14 : การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water)
เป้าหมายที่ 15 : การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land)
เป้าหมายที่ 16 : สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก (Peace and Justice Strong Institutions)
เป้าหมายที่ 17 : ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships to achieve the Goal)