เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
|
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เริ่มดำเนินการ พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) จนถึง พ.ศ. 2579 (ค.ศ. 2030) เอกสารที่ประเทศสมาชิกให้การรับรองเรียกว่า วาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ฉะนั้นในบางโอกาส SDGs อาจถูกเรียกด้วยคำว่า Agenda 2030 หรือ Global Goals ก็ได้ นอกจากนี้ในเอกสารวิชาการและเอกสารทางการระหว่างปี 2012 – 2015 นั้นอาจเรียก SDGs ว่า Post-2015 Agenda ด้วยก็ได้
กระบวนการได้มาของ SDGs เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development : UNCSD) ในปีนั้นที่กรุงริโอ เดอจาไนโร ประเทศบราซิล นับเป็นการครบรอบ 20 ปีการประชุมเดียวกันนี้ในปี 1992 ที่กรุงริโอ (จึงเรียกการประชุมนี้ว่า Rio+20) ในการประชุมนี้ การประเมินผลการพัฒนาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : 2001-2015) ถูกยกขึ้นมาและพบว่าหลายเป้าหมายยังไม่บรรลุ และในขณะเดียวกันความท้าทายใหม่ๆ ของโลกก็เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากรที่นำมาซึ่งแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติและอาหาร และความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่รุนแรงขึ้นทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ ที่ประชุมจึงมีการเสนอให้เริ่มกระบวนการร่างเป้าหมายการพัฒนาหลังปี 2015 (Post-2015 Agenda) และให้ในกระบวนการนี้เป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงระดับปัจเจกชนโดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง ในช่วงปี 2012 ถึง 2015 มีคนกว่า 8.5 ล้านคนมีส่วนร่วมกับกระบวนการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเทศไทย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ Social Watch เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างการมีส่วนร่วมในประเทศไทย เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) นั้นมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ดังนี้ (รายละเอียดคลิกที่ภาพ)
|